ข้อมูลโรงเรียน

ประวัติและความเป็นมา


ก่อนปี พ.ศ. 2519 ชาวบ้านนางเม้งส่งบุตรหลานไปเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านเล่าวิทยาคาร อยู่ห่างจากบ้านนางเม้งไปทางทิศเหนือ ประมาณ 1.5 กิโลเมตรนับว่าเป็นระยะทางไกลพอสมควรสำหรับเด็กที่เดินทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวชาวบ้านจึงขอตั้งโรงเรียนประถมศึกษาในหมู่บ้าน ทางราชการอนุมัติให้ตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 โดยทางราชการมอบให้ นายองอาจ ผลสวัสดิ์ ข้าราชการครูโรงเรียนโพนทองพิทยา อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้ก่อตั้งและร่วมกับชาวบ้านนางเม้ง เตรียมการต่าง ๆ เช่น สถานที่ อาคารเรียน อาคารประกอบ วัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านนางเม้งและผู้มีจิตศรัทธาบริจาค สร้างอาคารเรียน แบบ ป.1 ซ 4 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง พร้อมอุปกรณ์ รวมมูลค่าประมาณ 155,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ นายองอาจ ผลสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาคนแรก ( 1 พฤษภาคม 2519 ถึง 30 กันยายน 2543)

โรงเรียนบ้านนางเม้ง ตั้งอยู่บ้านนางเม้ง หมู่ที่ 3 ตำบลโพนทอง อำเภอเมองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ห่างจากหมู่บ้านนางเม้งไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร ติดกับถนนสาย ชัยภูมิ – ภูเขียว (ทางหลวง หมายเลข 201) ห่างศาลากลางจังหวัดชัยภูมิไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 7 กิโลเมตรมีพื้นที่ทั้งหมด 26 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา มีอาณาเขตดังนี้ ทิศตะวันออก ติดกับถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านนางเม้ง ทิศใต้ ติดกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ ทิศตะวันตก ติดกับหนองสระพัง ทิศเหนือ ติดกับถนนสายชัยภูมิ – ชุมแพ ในปีงบประมาณ 2521 โรงเรียนบ้านนางเม้งได้รับจัดสรรอาคารเรียน แบบ ป.1 ฉ ใต้ถุนสูง 3 ห้องเรียน และในปีงบประมาณ 2524 ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารเรียน แบบ ป.1. ฉ ใต้ถุนสูง 3 ห้องเรียน เป็น 6 ห้องเรียน และได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 286 คน ทำให้ขาดแคลนห้องเรียน พร้อมกับอาคารเรียนแบบ ป.1 ซ 4 ห้องเรียนเกิดชำรุดทรุดโทรม ทางโรงเรียนได้ขอรื้อถอนอาคารเรียนในปี 2538 และได้รับการอนุมัติให้รื้อถอนได้ ในปีงบประมาณ 2538 และในปีงบประมาณ 2539 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.105/ 29 จำนวน 8 ห้องเรียน พร้อมครุภัณฑ์ครบ ในราคาค่าก่อสร้าง 1,920,000 บาท และวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนอาคาร ทางโรงเรียนขออนุมัติใช้วัสดุดังกล่าวในการก่อสร้างอาคารอนุบาล จำนวน 2 ห้องเรียน โดยมิได้ใช้งบประมาณของทางราชการในการก่อสร้าง ทำให้โรงเรียนแก้ปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนด้านอาคารเรียนลงได้ ในปีงบประมาณ 2524 โรงเรียนได้รับจัดสรรบ้านพักครูแบบกรมสามัญ 2 ชั้น 2 ห้องนอน และในปีงบประมาณ 2528 โรงเรียนได้รับงบประมาณ ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ แบบ สปช. 201/26 200 ตารางเมตร 1 หลัง ด้านการบริหารจัดการ โรงเรียนบ้านนางเม้ง มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการ มาโดยตลอด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในอันดับ 1 - 10 ของสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองชัยภูมิ และเคยได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นระดับอำเภอเมืองชัยภูมิ ครูผู้สอนดีเด่นในระดับอำเภอและจังหวัด ห้องสมุดดีเด่น เป็นโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเด่นของกลุ่มโรงเรียนโพนทองมาตลอด


ที่ตั้ง

โรงเรียนบ้านนางเม้ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนางเม้ง หมู่ที่ 3 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ บนเนื้อที่สาธารณประโยชน์หมู่บ้าน ยกให้เป็นที่ดินของโรงเรียน เนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ห่างจากหมู่บ้านนางเม้งไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ชุมแพ )เข้าทางด้านทิศเหนือหน้าโรงเรียน เส้นทางที่ 2 จากหมู่บ้านนางเม้ง เป็นถนนลาดยางทางตะวันตกของหมู่บ้าน ระยะทาง 400 เมตร เข้าประตูโรงเรียนทางด้านทิศตะวันออก เส้นทางที่ 3 จากหมู่บ้านหมู่ 11 เป็นถนนลาดยางห่างประมาณ 500 เมตร เส้นทางนี้จะมาบรรจบกับเส้นทางที่ 2 ที่บ้านประตูโรงเรียน

สภาพชุมชน

1. ประชากร โรงเรียนบ้านนางเม้ง มีพื้นที่บริการ 2 หมู่บ้าน 1 ตำบล ดังนี้

บ้านนางเม้ง หมู่ที่ 3 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จำนวนครัวเรือน 395 ครัวเรือน ประชากร 1005 คนบ้านนางเม้ง หมู่ที่ 11 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จำนวนครัวเรือน 243 ครัวเรือน ประชากร 659 คน รวมประชากร 638 ครัวเรือน ประชากร 1,664 คน (ข้อมูล ณ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2558 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

2. สังคม สังคมหมู่บ้านนางเม้งเป็นสังคมแบบชาวอีสานทั่วไป คืออยู่กันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการคบหาสมาคม รักใคร่นับถือกันเหมือนญาติ แต่เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กล่าวคือ ผู้คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยแต่ค่าครองชีพสูง จึงให้การพึ่งพาอาศัยกันและช่วยเหลือกันลดน้อยลง ผู้คนมีจิตใจคับแคบเห็นแก่ตัวและเห็นและเห็นแก่ได้มากขึ้น

3. ศรษฐกิจ ชาวบ้านนางเม้ง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพหลักคือ การทำนาและการเกษตร ด้านอื่นๆและมีอาชีพรองคือเป็นกรรมกรรับจ้างทั่วไป เนื่องจากที่นาและที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นที่ดอนอาศัยน้ำฝน ผลผลิตในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงทำให้รายได้ของประชากรไม่แน่นอน

4. วัฒนธรรม ผู้คนในหมู่บ้านนางเม้ง มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย การกินอยู่ มีการพัฒนามากขึ้นความมักง่ายหรือนิสัยสุกเอาเผากินลดลง ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมมีมากขึ้น

5. ขนบธรรมเนียมประเพณี ยังคงยึดและแนวปฏิบัติตามบรรพบุรุษ แต่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข พัฒนา ให้มีความเหมาะสมกับกาลสมัยยิ่งขึ้น

6. ค่านิยม ชาวบ้านนางเม้ง ประมาณร้อยละ 70 ยังมีการเชื่อถือโชคลาง ภูตผี จิตวิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีรายได้น้อย มักจะพึ่งพาสิ่งเหล่านี้

7. คุณธรรม ภูมิธรรมที่ดีงาม มีประโยชน์ ควรแก่การดำรงไว้ ส่งเสริม พัฒนา ปรับปรุงหรือสร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น อาทิ ความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม ซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม ความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีเมตตากรุณา ความเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชาวบ้านนางเม้ง ยังคงมีอยู่มาก จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


วิสัยทัศน์


โรงเรียนบ้านนางเม้ง เป็นองค์การคุณภาพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมุ่งพัฒนา การศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


พันธกิจ


1) ให้โอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงเท่าเทียม และส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนได้ศึกษาจนจบ การศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6

2) ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีสมรรถนะ มีทักษะชีวิตตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

3) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกคนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

4) พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ให้มีขีดความสามารถสูงสุดในการจัดกระบวนการ เรียนรู้

5) ประสานผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุน ทรัพยากรในการจัดกิจกรรมการศึกษา


เป้าประสงค์


1) นักเรียนทุกกลุ่มและทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามสิทธิ์อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง สอดคล้อง กับความต้องการของนักเรียน และมีนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2) โรงเรียนบ้านนางเม้งมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ

3) นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อจบหลักสูตรต้องมีสมรรถนะสำคัญ มีทักษะชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

4) พัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อการส่งเสริม และให้บริการด้านการจัดการเรียนการสอน แก่นักเรียนอย่างทั่วถึง

5) ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาตนเองอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

6) จัดระบบเครือข่ายการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่มีทั้งสถาบันต่าง ๆ ทั้งของรัฐ ท้องถิ่นและ เอกชนร่วมกัน


อัตลักษณ์ “สะอาด มีวินัย ใฝ่รู้”

เอกลักษณ์ “สิ่งแวดล้อม น่าอยู่ น่าเรียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ปรัชญาของโรงเรียน “มุ่งมั่นทำความดี สร้างสรรค์ประชาธิปไตย ล้ำค่าสิ่งแวดล้อม มีมนุษย์สัมพันธ์ ร่วมใจ เรียนรู้วิชา ยุวเกษตรกรพร้อมชุมชน”

คําขวัญของโรงเรียน “เรียนดี มีพลานามัย วินัยนำ คุณธรรมสูงส่ง

สีประจำโรงเรียน เขียว - เหลือง

สีเขียว หมายถึง ความเจริญงอกงามในคุณธรรม ความรู้ ทักษะทางวิชาการ งานอาชีพ รวมถึงเจตคติ ที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สีเหลือง หมายถึง ความเป็นผู้นําที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ความสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบาน เป็น ผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตที่งดงาม ความมีเหตุมีผล และมีความเคารพนอบน้อม

เครื่องหมายสัญลักษณ์

คำอธิบาย

ช่อใบอีเม้งสีเขียว 2 ช่อ หมายถึง สัญลักษณ์ของชุมชนบ้านนางเม้ง 2 หมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งเดียวมีความเจริญพร้อมสรรพทางการศึกษา

เกร็ดความรู้สีทองที่หลากหลาย 16 เกร็ด ล้อมวงอักษรย่อ “นม” (โรงเรียนบ้านนางเม้ง) ที่ครูเพียร พยายามพร่ำสอนศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความรู้ความสามารถ ในเชิงทักษะชีวิตท่ามกลางความ เปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมไทย และสังคมโลก

ผู้เรียนสีเหลืองทองเปล่งรัศมีสีทอง 9 แฉก แสดงถึงความเป็นผู้นําทางวิชาการที่ทันต่อการ เปลี่ยนแปลง ความสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบาน เป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตที่งดงาม ความมีเหตุมีผล และมี ความเคารพนอบน้อม กตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ